Review: ธรรมธานี (ตามแนวทางท่านอาจารย์โกเอ็นก้า)

ธรรมธานี

วันนี้จะมาพูดถึงศูนย์ปฎิบัติธรรมธานี หลังจากที่ห่างหายไปนานมากๆๆๆๆ เพราะยุ่งจริงๆค่ะ (เฮ้อ ไม่อยากแก้ตัวด้วยคำนี้เลย) แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฎิบัติธรรมธานีนี้อยากรีวิวให้คุณๆได้อ่านทำความรู้จักกันจริงๆค่ะ ไม่ใช่เพราะตัวศูนย์หรอกนะค่ะ แต่เป็นเพราะวิธีการปฎิบัติและหลักคำสอนของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเป็นที่น่าประทับใจเอาซะมากๆ อดจะแชร์ไม่ได้

M_Id_160534_goenka

อย่างที่ได้เกริ่นมาแล้วนะค่ะว่าที่ศูนย์วิปัสสนาธรรมธานีนี้เค้าจะสอนการปฎิบัติตามแนวทางของท่านอาจารย์ เอส เอ็น โกเอ็นก้า ซึ่งตัวท่านเองเป็นคนเชื้อชาติอินเดียที่ไปเกิดและเติบโตในประเทศพม่า เรื่องราวว่าด้วยการทำความรู้จักกับธรรมะของท่านก็ค่อนข้างน่าสนใจค่ะ เพราะตัวท่านเองเริ่มแรกไม่ได้เป็นคนพุทธ ตระกูลของท่านนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอย่างเคร่งครัด แต่ที่ท่านได้เข้ามานับถือและปฎิบัติในแนวทางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นเพราะ ท่านเป็นโรคไมเกรนชนิดที่ไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งถึงแม้ว่าท่านจะเป็นนักธุรกิจที่มีเงินมากคนหนึ่งในพม่า และได้ออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อรักษาโรคของท่าน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนเมื่อวันหนึ่ง เพื่อนของท่านแนะนำให้ท่านเข้าปฎิบัติกับท่านอาจารย์อูบาขิ่น ท่านจึงหายจากโรคไมเกรนที่ท่านอธิบายว่ามันน่าสุดแสนจะทรมาน

ถึงแม้เรื่องราวความน่าอัศจรรย์นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของประกายแห่งความหวังให้แก่ผู้ป่วยโรคร้ายแรงหลายๆคน แต่ทางศูนย์ก็ไม่แนะนำให้ท่านเดินทางมาปฎิบัติเพียงเพื่อต้องการให้หายจากโรค เพราะท่านจะคิดแต่เพียงว่าวันนี้ท่านรู้สึกว่าท่านดีขึ้นแล้ว วันนี้ดีขึ้นอีกแล้ว ส่วนวันนี้อาการแย่ลง จิตใจของท่านจะไม่สามารถจดจ่อกับการปฎิบัติได้อย่างแท้จริง และเรื่องราวของธรรมะอันบริสุทธิ์จะกลายเป็นเพียงยาทิพย์รักษาโรคเท่านั้น ซึ่งผิดจุดประสงค์ในการปฎิบัติเป็นอย่างมาก พึงนึกไว้ให้สม่ำเสมอค่ะว่าเรามาที่นี่เพื่อปลดปล่อยตัวเราจากพันธนาการของตัวกิเลสจริงๆ เราจึงจะได้รับประโยชน์จากการปฎิบัติอย่างสูงสุด

เนื่องจากการปฎิบัติที่นี่ถือเป็นการปฎิบัติธรรมแบบเข้มข้น ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเปรียบเทียบการปฎิบัติของเราเหมือนการทำการผ่าตัดจิตใจครั้งที่ใหญ่และสำคัญมาก เราจึงอยากให้คุณๆได้อ่านทำความเข้าใจกับหลักสูตรให้มากที่สุดด้วยตนเองที่เว็บไซต์ของทางศูนย์เสียก่อน ซึ่งก็คือ www.thaidhamma.net ให้คุณผู้อ่านๆทำความเข้าใจกับตัวหลักสูตรที่ “คำแนะนำในการเข้าอบรม” และถ้าคุณคิดว่าคุณพร้อมที่จะปฎิบัติตามกฎของเค้าก็เริ่มเข้าดูตารางอบรมได้เลยค่ะ

จริงๆแล้วศูนย์ปฎิบัติธรรมตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้ามีทั้งหมด 9 ศูนย์ เมื่อคลิกดูตารางอบรมคุณจะเห็นทุกๆรอบการปฎิบัติที่จะจัดขึ้นในทุกๆศูนย์ อยากจะไปศูนย์ไหนก็ได้หมดค่ะ แล้วแต่ความสะดวก เราเชื่ออย่างนึงว่าศูนย์ปฎิบัติทุกศูนย์ของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าถูกจัดขึ้นมาดีทุกศูนย์ เพราะว่าได้สอบถามพี่ๆที่ไปมาแทบทุกศูนย์มาแล้ว ส่วนธรรมธานีนี้เป็นศูนย์ที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่ศูนย์ที่ดีที่สุดในนิยามของใครหลายๆคน แต่เป็นศูนย์ที่เราสะดวกในการเดินทางมากที่สุด เราจึงเลือกไปที่ศูนย์นี้ค่ะ

นอกจากตารางปฎิบัติแบบที่รวมทุกศูนย์ไว้ด้วยกันแล้ว เราก็ยังสามารถดูตารางปฎิบัติของที่ใดที่หนึ่งได้ด้วยการคลิกบนชื่อศูนย์ปฎิบัติที่ต้องการ ซึ่งจะอยู่ทางด้านขวาของหน้าหลัก เมื่อคลิกเข้าไปจะเห็นแผนที่และคำแนะนำในการเดินทางไปศูนย์นั้นๆ  ถ้าต้องการจะดูตารางปฎิบัติของศูนย์ที่เราเลือก ก็คลิกตามลิงค์บนหน้านั้นได้เลยค่ะ ตรงนี้ขอแปะไว้เฉพาะแผนที่ไปศูนย์ธรรมธานีเท่านั้นนะค่ะ

map1

ส่วนด้านล่างนี้เป็นรูปของในโครงการและที่อยู่ของศูนย์ปฎิบัติพร้อมเบอร์ติดต่อค่ะ

 

ที่ตั้ง

เลขที่ 42/660 หมู่บ้านเค.ซี.การ์เด้นโฮม
ถ.นิมิตใหม่ แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ 10510
โทร.0-2993-2744, 08-7314-0606
โทรสาร 0-2993-2799

ควรอย่างยิ่งที่จะจดเบอร์โทรของศูนย์ไว้ค่ะ เพราะศูนย์หายากมาก และแท็กซี่ก็ไม่ค่อยยอมไปเพราะมันไกล วิธีการเดินทางรบกวนเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของศูนย์ค่ะ

เมื่อเราเลือกวันเวลาได้แล้วก็คลิกบนชื่อหลักสูตรของวันนั้นๆ จากนั้นให้ลงไปส่วนล่างสุดของเพจ คลิก “ลงทะเบียนอบรม” และเริ่มการสมัครได้เลยค่ะ ต้องบอกก่อนว่าผู้เข้าปฎิบัติต้องอายุ 17 ปีขึ้นไปเท่านั้นนะค่ะ และควรจะต้องสมัครก่อนหลายๆเดือน แต่ต้องไม่นานเกินกว่า 4 เดือนก่อนวันเข้าอบรมค่ะ

เมื่อไปถึงศูนย์ตอนเวลาประมาณ 15.00-17.00 น. ก็เริ่มลงทะเบียน ฝากโทรศัพท์ ของมีค่า เครื่องเขียน และยาต่างๆที่เค้าไม่อนุญาติให้เก็บไว้กับตัวระหว่างปฎิบัติ หลักๆจะเป็นพวกยาที่ทำให้ง่วง ยาแก้ปวด ยาคลายเส้นอะไรทำนองนั้น ถ้าเป็นไข้ผู้จัดการหลักสูตรและธรรมบริกรจะให้เราทานยาสมุนไพรพวกฟ้าทะลายโจรแทน ซึ่งเค้าก็จะจัดเตรียมเอาไว้ให้อยู่แล้ว หลังจากฝากของทั้งหมดเราจะได้รับตั๋วสองใบ ใบแรกเป็นตั๋วฝากของมีค่า ใบที่สองเป็นตั๋วฝากของอื่นๆ ตั๋วนี้ให้เก็บเอาไว้เพื่อรับของคืนในวันที่ทางศูนย์กำหนดค่ะ

ที่จุดลงทะเบียนนี้เราก็จะได้รับถุงใส่ผ้าสำหรับผู้ปฎิบัติที่ต้องการใช้บริการซักผ้า ในราคาชิ้นละ 7 บาท ซึ่งค่าซักผ้านี้เราจะทำการชำระกันในวันที่ 10 ของการปฎิบัติค่ะ

เสร็จขั้นตอนปุ๊บก็รับเบอร์ห้องพักแล้วก็ขนของเข้าห้องพักของตัวเองได้เลยค่ะ

20130217_064411

ก่อนจะถึงห้องพักต้องผ่านส่วนด้านหน้าตามรูปด้านบนนี้ก่อนค่ะ รูปนี้ถ่ายจากบริเวณห้องพักออกไป โต๊ะพับที่วางอยู่ด้านซ้ายนี้ใช้วางของว่าง พวกขนมปัง แครกเกอร์ น้ำหวาน โอวัลติน กาแฟ ส่วนด้านขวาที่เห็นอยู่ลิบๆนั้นจะวางอาหารหลักๆของมื้อ เราก็จะมาเข้าแถวตักอาหารและของว่างกันที่ตรงนี้เลยค่ะ อาหารที่เราจะทานเป็นอาหารมังสวิรัติ ไม่มีเนื้อสัตว์ รสชาติอาหารที่นี่โอเคค่ะแต่รู้สึกเหมือนเค้าจะเน้นรสจืดหน่อย อาจจะเผื่อให้ผู้ปฎิบัติปรุงรสเองตามความต้องการ ที่นี่ไม่ได้บังคับให้ถือศีล 8 สำหรับผู้ปฎิบัติใหม่ แต่เค้าก็ไม่ได้มีข้าวเย็นเตรียมเอาไว้ให้ค่ะ เราต้องทานพวกขนมปังและของว่างอื่นๆแทน ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องทานอาหารเย็นจริงๆก็แจ้งทางศูนย์เอาไว้ก่อนได้ เค้าจะเตรียมอาหารไว้ให้ทานนิดหน่อย ซึ่งก็จะเป็นอาหารของมื้อกลางวันซะเป็นส่วนใหญ่ แต่เราว่ามาถึงนี่ถือศีล 8 ไปเลยก็ดีนะค่ะ เพราะจริงๆวันๆนึงเราไม่ได้ใช้พลังงานอะไรเลย ทานมากก็จะทำให้ง่วง และอึดอัดเวลาปฎิบัติด้วย

20130217_064259

ด้านบนเป็นห้องพักน้อยๆของเราในอีก 10 วันข้างหน้าค่ะ จริงๆแล้วอารมณ์คล้ายๆที่สวนโมกข์ตะหงิดๆ อาจจะด้วยความเล็กของห้อง แต่ที่นี่ดูดีกว่า สะอาดกว่า ในห้องเราจะได้เครื่องนอนต่างๆ ประกอบไปด้วย หมอน ผ้าห่ม นวมหมอนสำหรับกันเหงื่อ ปลอกหมอน และผ้าปูที่นอน นอกจากนนี้แล้วก็จะมีอุปกรณ์การรับประทานอาหาร ทั้งถาดหลุม ช้อนส้อม ถ้วย แก้ว ช้อนขนม ช้อนชา แล้วเค้าก็จะมีผ้าเช็ดจานให้อีกหนึ่งผืนกับพัดลมให้อีกหนึ่งตัวด้วย เหตุที่ต้องมีพัดลมเพราะที่นี่จะเปิดแอร์ให้เฉพาะตอนนอน และตอนพัก 1 ชั่วโมงช่วงบ่ายเท่านั้น เวลาอื่นๆก็ต้องพึ่งพัดลมตัวนี้เลยค่ะ อยากแอบกระซิบว่าแอร์ที่ห้องนอนหนาวมาก เกือบทุกห้องต้องไปขอกระดาษมาปิดช่องแอร์กันหมด ถ้ากลัวหนาวควรเตรียมผ้าห่มหนาๆติดตัวไปด้วยจะดีกว่าค่ะ

20130217_064305

ด้านบนเป็นรูปบรรยากาศหน้าเบย์ หรือซอยห้องพักค่ะ หลังประตูที่ตรงๆเข้าไปนั้นเป็นที่ตากผ้า และทางไปห้องซักผ้าด้านหลังตึก ส่วนที่เห็นเป็นเหล็กกลมๆหน้าประตูห้องพักคือเหล็กวางถาดหลุมสำหรับรับประทานอาหาร ลืมบอกไปว่าแต่ละห้องเค้าจะให้เก้าอี้หัวล้านพลาสติก 1 ตัว เราก็จะวางถาดหลุมบนเหล็กนี้ แล้วก็ใช้เก้าอี้พลาสติกตัวนั้นในการนั่งทานข้าว ทานอาหารไม่ต้องมองใครเลย มองแต่บานประตูอย่างเดียว โดยส่วนตัวคิดว่าดีนะค่ะ ไม่เสียสมาธิดี ไม่ต้องพูดกันด้วย บางทีถ้าเราต้องนั่งจ้องหน้ากันนานๆ เราก็อาจจะอยากพูดกันขึ้นมาก็ได้

20130217_064340

ส่วนนี่ก็คือห้องน้ำค่ะ มีทุกอย่างในตัว อย่างนึงที่ดีคือ ห้องน้ำที่นี่เค้าคำนวณจำนวนมาได้เพียงพอต่อการใช้สอยของจำนวนคนที่อาศัยอยู่ในเบย์นั้น ผู้ปฎิบัติไม่ต้องรีบมาก และไม่ต้องแย่งกัน เพราะเราก็ไม่เคยต้องแย่งห้องน้ำกับใคร

ที่ศูนย์ธรรมธานีที่กรุงเทพฯบรรยากาศศูนย์จริงๆแล้วก็ไม่เลวค่ะ เพราะถึงแม้จะอยู่ในกรุงเทพฯแต่ตั้งอยู่ไกลเอาซะมากๆอากาศจึงยังดีอยู่มากและยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่ด้วย สถานที่โดยรวมมีความสะอาดพอสมควรค่ะ ไม่ต้องกังวลมาก อยู่ในระดับที่รับได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับธรรมบริกรที่มาช่วยดูแลเรื่องความสะอาดและเรื่องอื่นๆแทบทุกเรื่องของรอบปฎิบัตินั้นๆด้วย แต่เราก็ยังเชื่อว่าเมื่อพวกเค้าอาสามาแล้วก็คงจะต้องพยายามทำเพื่อผู้ปฎิบัติให้ดีที่สุดอยู่แล้วล่ะค่ะ

ทีนี้เริ่มเรื่องการปฎิบัติกันหน่อยนะค่ะ

การปฎิบัติตามแนวทางของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเค้าว่ากันว่าเป็นวิธีการปฎิบัติที่สูญหายมานานกว่า 2500 ปี ก่อนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะค้นพบวิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ในการปฎิบัติเพื่อการตรัสรู้และบรรลุถึง มรรค ผล นิพพาน เป็นวิธีดั้งเดิม ก่อนการถูกผสมปนเปไปด้วยเทคนิคการปฎิบัติต่างๆนานาที่อาจารย์ในยุคหลังๆพัฒนาต่อเติมขึ้นมา (เค้าว่ากันว่านะค่ะ)

วิธีการปฎิบัตินี้ก็คือ การพิจารณาเวทนาที่เกิดขึ้น และเห็นถึงความเป็นอนิจจังในเวทนานั้น โดยตลอดเวลา 10 วันนี้ เค้าจะเปิดเทปคำสอนของท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ว่าด้วยเรื่องการปฎิบัติ แล้วตอนกลางคืนก็จะมีธรรมะบรรยายที่ทั้งสนุก และมีความเป็นวิทยาศาสตร์ในตัวด้วย

ในวันแรกๆเค้าจะให้เราปฎิบัติสมถะกรรมฐานโดยการสังเกตุดูลมหายใจโดยไม่มีคำบริกรรมใดๆ เอาแค่ความรู้สึกถึงการกระทบของลมหายใจบนส่วนต่างๆของจมูกและใต้จมูกล้วนๆ

ประมาณวันที่ 4 ช่วงบ่าย เราก็จะเริ่มทำวิปัสสนาโดยการกวาดความสนใจดูเวทนาบนร่างกายไปทีละนิ้วจนทั่วทั้งร่างกายตั้งแต่กระหม่อมไปจนถึงปลายเท้า ซึ่งการกวาดความสนใจนี้ก็สามารถทำได้หลายแบบแล้วแต่สถานการณ์ อยากรู้รายละเอียดต้องเข้าอบรมเองค่ะ เพราะถ้าสอนอย่างละเอียดตรงนี้กลัวจะสอนผิดและเกิดเป็นบาปได้ เนื่องจากการปฎิบัติวิธีนี้มันมีรายละเอียดในตัวอยู่เหมือนกัน

ในวันที่ 10 เราจะได้รับการสอนแผ่เมตตาหรือการทำเมตตาภาวนา เป็นการแผ่เมตตาที่ทำให้เรารู้สึกดีเอามากๆ ไม่เคยรู้สึกซาบซ่านและอบอุ่นอย่างนี้เลยจริงๆค่ะ เหมือนกับเรารู้สึกดีกับตัวเองจริงๆและพร้อมที่จะให้ความรักและความสุขกับทุกๆสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ด้วย อาจจะฟังดูยิ่งใหญ่ แต่รับรองว่าไม่เว่อร์ค่ะ หลังการแผ่เมตตาก็เริ่มพูดคุยกันได้ วันนี้เค้าจะให้เรารับของมีค่ายกเว้นโทรศัพท์คืน และในวันนี้เราก็สามารถช็อปปิ้งหนังสือธรรมะดีๆ ราคาสุดยอดของความถูกได้ด้วย

การปฎิบัติจะสิ้นสุดลงวันที่ 11 เวลาประมาณ 6.30 น. ซึ่งก่อนที่เราจะออกจากศูนย์ไปเค้าก็จะแนะนำวิธีการปฎิบัติในชีวิตประจำวันให้ ซึ่งดีมากๆค่ะ เหมือนเป็นการสรุป เพราะการปฎิบัติจะเป็นการปฎิบัติที่ไม่ได้ผล ไม่ได้ประโยชน์สาระอะไรหากไม่มีการนำไปใช้

หลายๆคนก็คงจะได้อ่านรีวิวจากหลายๆที่ และรับรู้ถึงความโหดในการปฎิบัติของที่นี่จากรีวิวเหล่านั้น ตอนอ่านรีวิวก่อนไปเราก็หวั่นๆเหมือนกัน แต่พอไปกลับมาจริงๆ เราว่ามันแล้วแต่ใจค่ะ เราเพียงแต่ปฎิบัติตามที่อาจารย์สอนอย่างจริงจัง ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไร เราชอบนะ แล้วก็อยากนำกลับมาปฎิบัติที่บ้านทุกเช้า-เย็นอย่างที่เค้าแนะนำด้วย ทุกสิ่งที่อาจารย์ให้ทำมีเหตุผลในตัวเองและไม่มีผลร้ายต่อเราแน่นอนค่ะ

เป็นยังไงค่ะ พอจะอยากไปปฎิบัติธรรมกันบ้างรึยัง สำหรับผู้ที่ต้องการจะไป ขอทิ้งรายการเตรียมจัดกระเป๋าไว้ให้พิจารณาด้านล่างนี้ด้วยนะค่ะ

1. เสื้อผ้าสำหรับปฎิบัติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นสีขาว แต่ควรเป็นสีสุภาพ ไม่มีลาดลายและตัวเขียนต่างๆ ควรเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ลุกนั่งสะดวก ไม่โป๋ ไม่รัดรูป ไม่สั้น

2. ผ้าขนหนูและของใช้ส่วนตัวอื่นๆ

3. รองเท้าใส่ในอาคาร ซึ่งอาจจะเป็นยางหรือผ้าก็ได้ (อันนี้ในกรณีที่ไม่ต้องการใช้รองเท้ายางของทางศูนย์ค่ะ)

4. ทิชชู (อันนี้จำเป็นมาก เพราะทางศูนย์จะไม่มีให้ หรือไม่ก็มีน้อย)

5. ผ้าห่มสำหรับห่มนอน (จริงๆทางศูนย์ก็มีให้ แต่ห้องพักอากาศหนาวมากๆๆๆค่ะ แล้วก็ไม่สามารถปรับอุณหภูมิได้ ห้องเราใช้กระดาษปะช่องแอร์แล้วก็ยังหนาวอยู่ คนขี้หนาวห้ามลืมเลยค่ะ) และถ้าใครไม่ชอบใช้ปลอกหมอนของศูนย์ก็นำไปเองได้ค่ะ

6. เสื้อกันหนาว ผ้าคลุมและถุงเท้าสำหรับใช้ในห้องปฎิบัติ เพราะห้องปฎิบัติเป็นแอร์แล้วก็หนาวเหมือนกันในบางครั้ง

7. ผงซักฟอก (ในกรณีที่ต้องการซักผ้าเอง)

8. เอกสารที่ทางศูนย์ให้เตรียมไปด้วยซึ่งจะอยู่ในอีเมลล์ยืนยันการปฎิบัติธรรม และ สำเนาบัตรประชาชน (ห้ามลืมค่ะ)

ยาวมากเลยโพสต์นี้ อาจจะยังตกหล่นอยู่หลายอย่าง แต่หวังว่ารายละเอียดประมาณนี้น่าจะเพียงพอในการใช้ประกอบการตัดสินใจได้นะค่ะ

ลองไปดูเลยค่ะ แล้วจะมีความสุขอย่างที่เรามีมาแล้ว

Be Happy ค่ะ

This entry was posted in Uncategorized. Bookmark the permalink.

Leave a comment